August 27, 2012

กระแส Givenchy จะมีและยังคงอยู่ได้อีกนานไหม?


เป็นอีกหนึ่งในหัวข้อสนทนาระหว่างการทานข้าวเมื่อวานนี้ เกี่ยวกับเรื่องของ Givenchy และกระแสที่ต่างถกเถียงกันว่า LVMH จะพากระแสของแบรนด์นี้ไปได้อีกนานมั๊ย? ซึ่งความคิดเห็นส่วนตัวที่เขียนไว้ในคราวนี้อาจจะตรงใจหรือไม่ตรงใจใครที่เผลอเข้ามาอ่านก็ต้องขอให้แค่คิดไว้ว่ามันเป็นการแสดงความคิดเห็นของแค่หนึ่งเสียงเท่านั้น ...

สิ่งหนึ่งซึ่งมันก็คือเรื่องจริงคือกระแสของ Givenchy นั่นเป็นเพียงอีกหนึ่งกระแสแฟชั่น ที่ถูกปั่นด้วยอำนาจเงินมหาศาลของกลุ่ม LVMH ไม่ต่างอะไรกับแบรนด์ในเครือก่อนหน้านี้ หากย้อนกลับไป 4 ปีเคยมีคนแอนตี้ Dior Homme ในยุคของ Kris Van Assche ในลุคอย่าง Monsieur แลดูสุขุมลุ่มลึก แต่ไม่นานซิลลูเอทที่ KVA สร้างไว้ให้ Dior Homme ก็กลายเป็นกระแสที่ทำให้หนุ่มๆหันมานิยมใส่กางเกงขาเต่อกับเสื้อเชิ๊ตคัทคมทำผมสุดเนี๊ยบ โดยเฉพาะคอลเล็กชั่นสุดเฉียบเหมือนลมบาด Blow S/S 2009 ที่ชาวแฟชั่นนิตโต้คงปฎิเสธไม่ได้ว่าทั้งแว่นตากันลมและแจ็กเก๊ตหนังสีเมทัลลิคเหล่านั้น ต่างสร้างปรากฏการณ์แฟชั่น และส่งผลโดยตรงต่อเสื้อผ้าในทุกๆตลาด ... นี่คือความฉลาดที่ได้คาดการณ์ความเป็นไปในโลกของแฟชั่นได้อย่างถูกต้อง? หรือมันคือความเก่งกาจของดีไซเนอร์ที่หาเจอลุคที่ถูกใจใครหลายๆคน? หรือมันคือผลของการผลักดันกระแสใหม่ ที่ใครๆก็ยอมรับถึงความสามารถในจุดนี้ของนายใหญ่อย่าง Bernard Arnault

Dior Homme by Kris Van Assche S/S 2008

Dior Homme by Kris Van Assche S/S 2009

ถ้ากรณีกระแสของ Dior Homme โดย Kris Van Assche เกิดขึ้นด้วยความเก่งของดีไซเนอร์เพียงอย่างเดียว แน่นอนว่าในตอนนี้กระแสของ Givenchy คงยังไม่เกิด และดีไซเนอร์เก่งๆหลายๆคนคงผลักดันให้สารพัดแฟชั่นไอเท็มของตัวเองกลายเป็นกระแสได้ไม่ยาก แต่หากมันเกิดจากวิสัยทัศน์ต่อธุรกิจแฟชั่นบวกกับการผลักดันด้วยอำนาจเงินมหาศาล ไม่ว่าแบรนด์ใดก็ตามที่ถึงคิวของการที่จะต้องถูกชูโรงก็จะเด่นเป็นที่สนใจได้เพียงชั่วข้ามคืน และแม้ว่า Givenchy โดย Riccardo Tisci ได้เข้าสู่ปีที่ 7 อย่างงดงาม แต่หากลองย้อนกลับไปที่ไทม์ไลน์ในช่วงระยะแรกๆ หลายๆคนก็คงไม่ได้โฟกัสไปที่แบรนด์ดังในอดีตแบรนด์นี้มากนักนับตั้งแต่ที่ McQueen ลาออกไป ความสำเร็จที่ดูสดใสใน(ช่วง 3 ปีหลัง)คราวนี้ของ Tisci จึงไม่ได้มีเพียงแค่ฝีมือของตัวดีไซเนอร์ แต่มันคือการเจอกันอีกครึ่งทางกับเหล่าช่างและการตลาดที่คาดการณ์และผลักดันด้วยนายทุนคนเก่ง ที่ในตอนนี้นั้นก็มีชื่อ Raf Simons และแบรนด์ยอดมงกุฎอย่าง Christian Dior รอการกลับมาผงาดอีกครั้งด้วยกำลังที่คงโปรโมทเต็มอัตรา แม้แต่ Louis Vuitton Men โดย Kim Jones ที่โดนโหมโปรโมทไม่ต่างอะไรกับ Givenchy แต่ด้วยราคาที่สูงกว่า และไม่ได้มีมาจำหน่ายทุกๆ Boutique(รวมถึงที่ไทย)จึงเหมือนจะไม่เป็นกระแส แต่เมืองอื่นๆนั้น LV Men หยิบยื่นกระแสลาย Masai Damier ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถือเป็นอีกหนึ่งการเปิดตัวคอลเล็กชั่นแรกได้อย่างงดงาม

หนึ่งในคอลเล็กชั่นพีคของ Givenchy F/W 2011

อีกหนึ่งคอลเล็กชั่นเด่น Givenchy S/S 2012

ถ้าเอาตามความคิดเห็นส่วนตัว กระแสของ Givenchy คงมีได้อีกสักระยะ(ใหญ่ๆ) เพราะในตอนนี้คงต้องยอมรับว่าห้องเสื้อที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานผ่านมุมมองของตัวดีไซเนอร์แล้วออกมาได้ดาร์คโดนใจ ดูดรามาติคและสวมใส่ได้จริงๆนั้น นับตั้งแต่โลกนี้ไม่มี Alexander (Lee) McQueen แล้วก็ดูเหมือนว่า Tisci จะเป็นตัวเลือกต้นๆที่คนชอบผลงานแนวนี้คงถูกใจ แต่ในขณะเดียวกันที่โลกแฟชั่นหมุนเวียนเปลี่ยนไปด้วยผลประโยชน์ทางธุรกิจ ก็คงต้องจับตามองว่านายใหญ่แห่ง LVMH จะโฟกัสไปที่ลูกรักคนใหม่อย่าง Raf Simons แห่ง Christian Dior จนลดการโหมโปรโมท Givenchy อย่างในตอนนี้ไปหรือไม่ ทั้งหมดล้วนไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะกระแสหมุนเวียนเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา คนรักแฟชั่นทุกคนอาจจะไม่ได้มี Givenchy และคนที่มี Givenchy และชอบมากในวันนี้ ก็อาจจะรู้สึกเฉยๆได้ในวันหน้าเมื่อมีอะไรเข้ามาสู่ในวังวนของกระแสใหม่ ^__^


No comments:

Post a Comment

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...