July 11, 2016

เก็บตก Paris Mens S/S 2017 และ Haute Couture Fall 2016 เมื่อแบรนด์ใหญ่ต้อง "เพลย์เซฟเพื่อตั้งหลัก หรือรุกหนักสร้างกำไร"?

มีหลายๆคนที่คงทราบกันดีว่า เศรษฐกิจของโลกที่สั่นคลอนในตอนนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจแฟชั่น แต่ก็ไม่อยากให้มองว่าการเบนเข็มทิศทางของเสื้อผ้าจากรูปแบบหนึ่ง ไปสู่รูปแบบหนึ่งนั้นก็เพื่อเอาตัวรอดให้มีจบๆไปในหนึ่งซีซั่น เพราะกว่าที่ห้องเสื้อจะนำเสนอคอลเล็กชั่นหนึ่งคอลเล็กชั่นนั้น ต้องผ่านการรวมพลังสมอง การวิเคราะห์ และมองให้ทะลุไปถึงปัจจัยต่างๆที่จะส่งผลกระทบต่อแบรนด์ ทั้งในส่วนของเม็ดเงินที่ต้องไหลกลับเข้ามาเป็นกำไรในการต่อยอดให้คอลเล็กชั่นต่อๆไป และในส่วนของภาพลักษณ์ซึ่งจำเป็นต้องบาลานซ์ให้ดีๆ ทำให้หลายๆห้องเสื้อใหญ่ในเมืองแฟชั่นระดับโลกต่างนำเสนอคอลเล็กชั่นที่อาจเรียบง่าย ใส่ได้จริง ตัดสไตล์ลิ่งหลุดโลกเช่นในทศวรรษก่อนๆหน้า ทำให้กลายเป็นที่มาของคำถามที่ว่า ในตอนนี้ธุรกิจแฟชั่นกำลัง "เพลย์เซฟเพื่อถอยตั้งหลัก หรือรุกหนักเพื่อสร้างกำไร"? โดยงานสัปดาห์แฟชั่นของเมืองใหญ่อย่างใน Paris ทั้ง Paris Mens Fashion Week S/S 2017 เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ต่อด้วยสัปดาห์แฟชั่นชั้นสูง Haute Couture Week Fall 2016 นั้นมีคำตอบที่ชัดเจนในตัว


งาน "เพลย์เซฟ" ของ Dior Haute Couture Spring 1999


งาน "เพลย์เซฟ" ของ Givenchy RTW Spring 1999

เมื่อพูดถึงการ "เพลย์เซฟ" ของบรรดาห้องเสื้อใหญ่ๆในกรุง Paris นั้นก็ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะหากย้อนกลับไปแบบไม่ต้องนานหลายทศวรรษ ก็คือในช่วงปลาย 90's ที่ในขณะนั้นบรรดาห้องเสื้อเก่าแก่ของฝรั่งเศสอย่าง Dior และ Givenchy ที่ได้ทั้ง John Galliano และ Alexander McQueen มาคุมบังเหียนให้ หลังจัดโชว์ด้วยโปรดัคชั้นใหญ่เยี่ยงละครบรอดเวย์อยู่ได้ 2-3 ซีซั่น เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อเศรษฐกิจของเอเชียสั่นคลอนส่งผลให้หลายประเทศในเอเชียเช่นญี่ปุ่น และฮ่องกงที่เป็นลูกค้ารายหลักต้องลดกำลังในการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยลง Dior โดย John Galliano ที่คอลเล็กชั่น Ready-To-Wear Falll 1999 และคอลเล็กชั่น Haute Couture ฤดูร้อน 1999 จำเป็นต้องหัน "เพลย์เซฟ" ตั้งแต่ขนาดของโชว์โปรดัคชั่น ยันคอลเล็กชั่นเสื้อผ้า เป็นหนึ่งในคอลเล็กชั่นของ Dior ซึ่งหลายคนอาจลืมเลือน เช่นเดียวกับ Givenchy โดย Alexander McQueen หลังจัดโชว์ใหญ่ในต้นปี 1998 ก็ต้องหันกลับมาทำคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าที่ "เพลย์เซฟ" แบบที่ดูไม่ออกว่านี่คือผลงานของ Alexander McQueen


ร้าน Dior ในญี่ปุ่น ปี 1998 ซึ่ง Dior มีญี่ปุ่นเป็นลูกค้าหลัก


S/S 2015 คอลเล็กชั่นโบกมือลา RTW ของ JP Gaultier

แต่ในขณะที่ห้องเสื้อรายใหญ่แห่งกรุง Paris ทั้ง Dior, Givenchy, Chanel ต่างพากัน "เพลย์เซฟ" แบรนด์ใหญ่ระดับโลกที่เพื่งเข้าสู่ระบบธุรกิจแฟชั่นเต็มตัวในขณะนั้น Louis Vuitton กลับเลือกที่จะไม่ "เพลย์เซฟ" เพื่อถอยตั้งหลัก แต่ยิ่งเป็นการ "รุกหนัก" เพื่อจะ "สร้างกำไร" ให้แก่แบรนด์ต่อไป คอลเล็กชั่นของ Louis Vuitton โดย Marc Jacobs ยังคงจัดเต็มด้วยสารพัดวัสดุสุดหรูก็เพื่อสร้างมูลค่าให้สินค้า แต่ทั้งหมดถูกนำเสนอมาในทิศทางของเสื้อผ้าที่ดูสวมใส่ได้ง่าย และสวมใส่ได้จริงสำหรับผู้หญิงในเมืองใหญ่ๆ ดังนั้นในการจะดูว่าแบรนด์ต่างๆนั้น "เพลย์เซฟเพื่อถอยตั้งหลัก" หรือเป็นการ "รุกหนักเพื่อสร้างกำไร" หรือไม่ ก็คงต้องโฟกัสในส่วนของการค้นพบเป้าหมายใหม่ๆของแต่ละแบรนด์ เพราะการนำเสนอแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงไป อาจเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อเอาใจลูกค้าหลักที่มีในช่วงเวลานั้น เพราะหากแฟชั่นดีไซเนอร์เอาใจคนเพียงแค่กลุ่มเดียวตลอดเวลา เสื้อผ้า Ready-To-Wear ที่เคยฮอตฮิตของสุดยอดดีไซเนอร์อย่าง Jean Paul Gaultier หรือ Christian Lacroix คงไม่ถึงทางตัน และจำเป็นต้องปิดตัวไปในที่สุด


ชิ้นขายที่เน้นกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นเงินหนา Givenchy Resort 2017


Versace กับลวดลายสไตล์ Baroque สีทอง ครองใจชาวจีน

ประวัติศาตร์ของธุรกิจแฟชั่นซึ่งไม่ต้องย้อนกลับไปไกลๆ ในการรับมือกับระบบธุรกิจของโลกที่กำลังสั่นคลอนกำลังกลับมาให้ได้เห็นอีกครั้งในช่วงทศวรรษนี้ หากจะมองว่าแต่ละแบรนด์ใน Paris Mens Fashion Week SS 2017 และ Haute Couture Fall 2016 ล่าสุดนั้นต่างพากัน "เพลย์เซฟ" และดูน่าเบื่อกันถ้วนหน้า ก็คงต้องมองอีกมุมว่า ตอนนี้แต่ละห้องเสื้อกำลังนำเสนอผลงานสำหรับใคร และเราเป็นกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ เพราะความน่าเบื่อนั้นอาจเกิดขึ้นจากการที่เราไม่ได้เสพแฟชั่นในแบบที่แตกต่างออกไป ในขณะที่ห้องเสื้อรายใหญ่ กำลังนำเสนอผลงานใหม่ๆ เพื่อไม่ให้ผลงานดูซ้ำซากและเลี่ยนเกินไปนัก,  Givenchy เป็นตัวอย่างที่ดีในการกระจายรูปแบบสไตล์แฟชั่นไปในแต่ละคอลเล็กชั่นได้อย่างน่าชื่นชม ในขณะที่ทุกวันนี้ห้องเสื้อรายใหญ่ๆมี ฤดูกาลย่อย และฤดูการหลัก การนำเสนอ Street Couture ของ Resort 2017 สำหรับกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นเงินหนา ส่วนงาน Tailoring ด้วยเทคนิคระดับ Couture ซึ่งอาจดูน่าเบื่อด้วยฟอร์มที่เรียบง่าย แต่รายละเอียดจัดเต็มของฤดูกาลหลัก Men SS 2017 เพื่อเอาใจลูกค้ารายใหญ่เช่นดูไบและจีน 


บายเออร์กำลังชื่นชมผลงานของ CdG Homme Plus S/S 2017


กลุ่มผู้ซื้อกำลังชื่นชมผลงาน Menswear ของ Rick Owens

ในขณะที่หลายแบรนด์นำเสนอรูปแบบแฟชั่นที่ดูเรียบง่าย แต่ดีไซเนอร์เสื้อผ้าสาย Niche อย่างเช่น Comme des Garcons หรือ Rick Owens ต่างพากันยิ่ง "รุกหนัก" เพื่อเอาใจกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาจากทั้งในเกาหลีใต้, จีน และไต้หวัน คอลเล็กชั่น Men SS 2017 ของ Rick Owens และ CDG เป็นตัวอย่างของ 2 ห้องเสื้อที่ไม่ต้อง "เพลย์เซฟ" แต่ยิ่งต้อง "รุกหนัก" เพื่อย้ำถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้มั่นคง ซึ่งในกรณีนี้ยังสามารถนำไปเปรียบเทียบได้กับห้องเสื้อรายใหญ่ประจำ Milan เข่น Versace ซึ่งร้านในไทยอาจเงียบเหงา แต่เมื่อเราลองพิจารณาโปรดัคชั่นโชว์ของ Versace ที่ใหญ่ขึ้นๆ หรือลองได้ไปสัมผัสร้านของ Versace ในเมืองจีน หรือที่ฮ่องกงแล้วจะรู้ว่า Versace นั้นขายดีขนาดไหน เพราะเมื่อแต่ละแบรนด์ได้เจอลูกค้ารายใหญ่ การจัดเต็มเพื่อต้อนรับลูกค้าไม่ว่าจะเป็นลูกค้ากลุ่มใหม่ หรือกลุ่มเก่าที่มัดใจได้อยู่หมัดแล้วเป็นเรื่องสำคัญ และไม่จำเป็นที่ต้องนำเสนอคอลเล็กชั่นที่ดู "เพลย์เซฟ" อย่างเช่นแบรนด์หรูแต่อาจดูแมส ซึ่งมีกระแสขึ้นๆลงๆ เพราะห้องเสื้อเหล่านี้รู้ดีว่าลูกค้ายังคงต้องการผลงานสนองตัวตนที่ชัดเจน


Chanel Haute Couture Fall 2016 โชว์การตัดเย็บบนรันเวย์


ฟอร์มเรียบง่าย แต่มากด้วยรายละเอียดระดับงาน Couture

เช่นกันกับในฟากฝั่งของ Haute Couture Week อีกซีกโลกของความหรูหรา ที่เสื้อผ้านั้นมีราคาสูงกว่า Ready-To-Wear หลายเท่าตัวนัก, ในเมื่อ Haute Couture คือต้นสายของลำธารแฟชั่น นั่นจึงสามารถที่จะกำหนดทิศทางของคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าสำเร็จรูป และยังเอาใจลูกค้าได้ โดยอาจไม่ต้องกังวลเรื่องเทรนด์เป็นหลัก คอลเล็กชั่นชั้นสูงใน Haute Couture Week ฤดูกาล Fall 2016 อาจไม่ถูกใจใครที่ชอบ 'งานใหญ่' อย่างที่ Thierry Mugler, John Galliano, Alexander McQueen เคยสร้างสรรค์ไว้ในช่วงยุค 90's ยุคที่แต่ละห้องเสื้อต่างประกาศศักดาเพื่อให้ก้าวขึ้นสู่ระดับบนสุดของความหรูหรา และภาพลักษณ์ส่งผลมาถึงสินค้าในไลน์อื่นเพื่อเปลี่ยนเป็นกำไร แต่หากมองในเรื่องของความคงไว้ซึ่งวัตถุประสงค์หลักในการสร้างสรรค์คอลเล็กชั่นชั้นสูง Haute Couture ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็ยังคงมีมาตรฐานและงานดูมากคุณค่าเช่นเดิม อย่างเช่น Chanel ที่ความเรียบง่ายแต่มากด้วยรายละเอียดสุดปราณีตนั้น ก็ไม่ต่างจากคอลเล็กชั่น Couture ดูเรียบง่ายของ Chanel ในช่วง 90's อีกหนึ่งยุคที่พีคสุดๆของงาน Haute Couture เช่นกัน 


คุณ Armani นักออกแบบที่รู้จักกลุ่มลูกค้าเป็นอย่างดี


Armani Prive Fall 2016 ส่งสารโดยตรงไปยังกลุ่มลูกค้าหลัก

แล้วเมื่อมาถึงยุคที่เศรษฐกิจโลกสั่นคลอนอีกครั้ง การกลับไปเอาใจลูกค้ารายใหญ่ๆ และเป็นลูกค้ารายหลักจึงไม่ใช่เรื่องแปลกและไม่ใช่เรื่องใหม่อย่างใด เพราะการเบนทิศทางของแฟชั่นที่นำเสนอนั้นอาจไม่ใช่เป็นการ "เพลย์เซฟ" แต่ยิ่งเป็นการ "รุกหนักเพื่อสร้างกำไร" อย่างเช่น Armani Prive ในฤดูกาลล่าสุดนี้ ที่หากลูกค้าจากตะวันออกกลาง หรือจากจีนเห็นก็คงจะถูกใจกันถ้วนหน้า เพราะเป็นกลุ่มลูกค้าที่ดีไซเนอร์ต้องการนำเสนอและส่งสารไปให้ถึงโดยตรง ดีไซเนอร์ซึ่งอยู่มายาวนาน เช่น Giorgio Armani รู้ดีว่าช่วงเวลาไหนควรเอาใจสื่อ และแฟชั่นนิสต้าด้วยการสร้างสรรค์เสื้อผ้าดรามาติกเรียกกระแส และเมื่อไหร่ที่ควรต้องพุ่งเป้าไปที่กำไรเพื่อให้ห้องเสื้ออยู่รอดปลอดภัย การเอาใจรสนิยมของคนทุกกลุ่มเป็นเรื่องยากทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะยุคที่เศรษฐกิจไม่เฟื่องฟูอย่างเช่นในยุคนี้ ยุคที่ห้องเสื้อต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่า 'การอวย' กับ 'กำไร' นั้นต้องการสิ่งใดมากกว่ากัน แล้วถึงจะกลับไปตอบโจทย์ในการสร้างสรรค์คอลเล็กชั่นของตัวเองได้ว่าควรที่ "เพลย์เซฟเพื่อตั้งหลัก หรือรุกหนักสร้างกำไร" ให้ห้องเสื้อก้าวต่อไปครับ ^__^

No comments:

Post a Comment

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...