August 14, 2015

The Diary : Fashion Week ในเมืองไทย ดูไม่ลงทุนจริงหรือ?

Hook's Fall/Winter 2008 
อีกหนึ่งแบรนด์ที่สวยงามทั้งเสื้อผ้าและโปรดัคชั่น

เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีโอกาสได้เห็นรูปโชว์ของ Hook's เมื่อ 7 ปีก่อนจากเว็บไซท์ Siammuse (เวอร์ชั่นแรกเริ่ม)อีกครั้งจาก facebook ของคุณผักกาด ประภากาศ อังศุสิงห์ ดีไซเนอร์และเจ้าของห้องเสื้อ Hook's ซึ่งไม่ว่าเวลาผ่านไปกี่ปี Hook's ก็ยังคงเป็นหนึ่งในห้องเสื้อที่แสดงผลงานออกมาให้แฟนๆได้ตื่นตาตื่นใจ ไม่เพียงเฉพาะผลงานการออกแบบเสื้อผ้า แต่รวมไปถึง ส่วนของโปรดัคชั่นตระการตาจนแฟชั่นนิสต้าทั่วฟ้าเมืองไทยยกให้เป็น Talk of The Town ไปทุกซีซั่น ดูขัดแย้งกันกับที่เคยได้ยินคนพูดว่าแฟชั่นโชว์ในไทย ดูไม่ค่อยลงทุน เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับแฟชั่นโชว์ในยุโรป หรือแม้แต่ในเอเชียด้วยกัน ซึ่งนั้นเป็นเรื่องที่ส่วนตัวไม่ค่อยเห็นด้วย(ทั้งหมดซะทีเดียว) แถมยังคิดต่างออกไปด้วยว่า การจัดแฟชั่นโชว์ในงานสัปดาห์แฟชั่น หรือ Fashion Week ของเมืองไทย ไม่ได้เป็นสองรองใครในเอเชีย หรือแบรนด์ใหญ่ๆในยุโรป เพียงแต่อาจมีหลายปัจจัยที่ทำให้บางคน หรืออาจจะเป็นหลายๆคนรู้สึกไปเช่นนั้นก็เป็นได้

FLYNOW อีกหนึ่งแบรนด์ไทยที่มีรูปแบบ
รันเวย์โชว์สวยงามในทุกฤดูกาลสัปดาห์แฟชั่นไทย

ไม่ใช่แต่เพียงในเต้นท์เท่านั้น
แต่ Flynow ยังจัดแสดงโชว์นอกสถานที่ด้วยเช่นกัน

แม้ส่วนตัวขอยกให้งานสัปดาห์แฟชั่นของเมืองไทยดูไม่เป็นสองรองใคร หากนำไปเทียบกับหลายๆประเทศในเอเชีย หรือแม้แต่บางแบรนด์ฝั่งยุโรป แต่หนึ่งในปัจจัยหลักที่อาจทำให้ Fashion Week ของเมืองไทยไม่เป็นที่ถูกพูดถึงก็เพราะ Fashion Week ในเมืองไทยยังคงจัดโชว์ตามฤดูกาลจริง ไม่ใช่เป็นการจัดโชว์ล่วงหน้าตามปฎิทินแฟชั่นโลก พร้อมกับหลายๆประเทศในยุโรป หรือแม้แต่ในเอเชียด้วยกันเอง ทำให้ทั้งสื่อและ Buyers รายใหญ่ในต่างประเทศจึงมักเลือกที่จะเดินทางไปร่วมงานสัปดาห์แฟชั่นของ ทั้งใน Japan Fashion Week ประเทศญี่ปุ่น และ Seoul Fashion Week ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งทั้งสองนี้มีตารางคาบเกี่ยวกับ Fashion Week ของเมืองไทย ในหลายๆปีที่ผ่านมา(ช่วงต้นตุลาคม Japan และตามติดด้วย Seoul) อีกทั้งงบประมาณในการสนับสนุนสื่อต่างชาติ(อย่างเช่น Seoul)ทั้งตั๋วเครื่องบิน หรือที่พักก็เป็นอีกปัจจัยหลักในการชักจูงใจให้ทั้งสื่อ และ Buyers หันไปสนใจในการเข้าร่วมงานสัปดาห์แฟชั่นของตนเอง

กลุ่ม Buyers ที่สัปดาห์แฟชั่นของกรุง Seoul
ในอดีตจัดที่ Seoul Trade Exhibition and Convention Center

Dongdaemun Design Plaza 
แลนด์มาร์คใหม่ ที่ใช้จัด Seoul Fashion Week ในปัจจุบัน

แต่หากไม่พูดถึงเรื่องของการสนับสนุนอย่างเต็มกำลังจากทางภาครัฐ(ประเทศเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในอีกตัวอย่างที่ดีที่สุด)สำหรับเชิญทั้งสื่อและ Buyers ต่างชาติไปร่วมงาน รวมทั้งความละลานตาของดาราและศิลปินชื่อดัง(อีกปัจจัยสำคัญ ที่ยังคงทำให้ผู้คนหันไปสนใจในอีเว้นท์ต่างๆ)แล้ว Fashion Week ในเมืองไทย ส่วนของโปรดัคชั่นนั้นไม่ได้เป็นรองประเทศอื่นเลยแม้แต่น้อย หากเทียบกับในส่วนของสถานที่ซึ่งมีจำกัด โดยจัดในเต้นท์ แต่ไม่ใหญ่เช่นใน New York Fashion Week(ที่หลายโชว์นั้นดูเรียบง่ายกว่าเมืองไทย) แต่รูปแบบโชว์จากหลายๆห้องเสื้อก็ทำให้รู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้ชม แม้แต่เพื่อนๆต่างชาติที่มีโอกาสได้เห็นรูปรันเวย์โชว์จาก Fashion Week ของเมืองไทย ที่ทั้ง Flynow, Hook's, Tube Gallery แบรนด์เหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ได้ยินเสียงชื่นชมสมกับเป็นหนึ่งในแบรนด์ระดับแถวหน้าของเมืองไทย ที่ทำให้รู้สึกภูมิใจในฝีมือดีไซเนอร์ไทย และทำให้ชาวต่างชาติอยากที่จะเข้าร่วมชมโชว์(หากโอกาสเอื้ออำนวย)

Lycée Carnot 
หนึ่งในสถานที่จัดโชว์หลักๆของงานสัปดาห์แฟชั่นในกรุง Paris

Palais de Tokyo
อีกสถานที่หลักในการจัดแสดงแฟชั่นโชว์ใน Paris เช่นกัน

ในส่วนของโปรดัคชั่นโชว์ทางฝั่งยุโรปเช่นของ Milan และ Paris ที่ไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกับการจัด Fashion Week ในเมืองไทยก็เพราะปัจจัยหลักในเรื่องของงบประมาณ(มหาศาล)ที่เค้ามี นั่นคือสิ่งที่ทำให้โชว์ใหญ่ระดับโลกทั้ง Chanel, Dior, Louis Vuitton, Gucci, Prada นั้นสามารถเนรมิตร Runway ขนาดใหญ่ และทำให้เป็นอะไรก็ได้อย่างที่ต้องการ บวกด้วยสถานที่ที่เอื้ออำนวย นั่นก็ยิ่งช่วยเติมเต็มให้โปรดัคชั่นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่หากไม่นับแบรนด์ใหญ่ที่มีกำลังงบมหาศาลขนาดนี้ อีกหลายๆดีไซเนอร์แบรนด์ก็มีรูปแบบโชว์ซึ่งดูเรียบง่าย เน้นเพียงรายละเอียดของผลงานไม่ต่างจากหลายๆโชว์ในเมืองไทย มีเพียงสถานที่ซึ่งมีประติมากรรมสวยๆช่วยให้บรรยากาศโดยรอบดูมีมนต์เสนห์ เช่น Mens SS 2016 ที่เพิ่งจบไป หลายแบรนด์นั้นจัดสถานที่เดียวกันใน Palais de Tokyo แต่รูปแบบการจัดที่นั่งต่างกัน แสง สี ที่ดูต่างกัน เพียงแค่นั้นก็ทำให้รูปที่ไปปรากฏลงบนสื่อดูแตกต่างกันไปโดยไม่ต้องใช้งบในการสร้างมากมาย(เท่ากับรายใหญ่)

Hong Kong Convention & Exhibition Centre
สถานที่ใช้จัดแสดงแฟชั่นโชว์ในช่วง Fashion Week มาช้านาน

The Shoppes at Marina Bay Sands
หนึ่งในสถานที่สำหรับจัดแสดงแฟชั่นโชว์ของ Singapore

หรือแม้แต่ในเอเชียเช่นที่กรุง Seoul เกาหลีใต้ อีกหนึ่งรายซึ่งงานสัปดาห์แฟชั่นกำลังเป็นที่ถูกจับตาในทศวรรษนี้ โดยมี Menswear เป็นตัวสำคัญในการที่ทำให้ Fashion Designers ของเกาหลีเป็นที่ถูกพูดถึง บวกด้วยสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ ดูโดดเด่นและเป็นแลนด์มาร์คใหม่ให้คนไปถ่ายรูปตั้งแต่ปีก่อน Dongdaemun Design Plaza แต่ในก่อนหน้านั้นขณะยังจัดโชว์ที่ Seoul Trade Exhibition & Convention Center (SETEC) รูปแบบของโปรดัคชั่นโชว์ก็มีทั้งที่ใหญ่โตและเรียบง่ายแตกต่างกันไปตาม Hall และกำลังงบที่แต่ละแบรนด์(และที่สปอนเซอร์)มี เช่นเดียวกับที่เมืองไทย ที่โชว์จะใหญ่หรือเล็ก นั่นก็เป็นเรื่องของงบประมาณในการจัดการ และเพื่อให้สอดรับกับคอลเล็กชั่นซึ่งแตกต่างกันออกไป เพียงแต่ในยุคนี้ เมื่อเกาหลีใต้กลายเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางงานดีไซน์ของเอเชีย รัฐและเอกชนรวมกันสนับสนุนกันมากขึ้น(ตึก DDP ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดี) Fashion Week ของเกาหลี จึงถูกยกระดับขึ้นไปอีก(หลายๆ)ขั้น บนเวทีแฟชั่นโลก

Hall ขนาดใหญ่ของ SETEC 
เนรมิตรรันเวย์ได้ตามต้องการในอดีต (Beyond Closet FW 09)

เช่นกันกับที่ Lycee Carnot
พื้นที่โล่งสามารถจัดรูปแบบโชว์ได้ตามต้องการ(และงบที่มี)

ตัวอย่างที่กล่าวมาในบางส่วน นั้นทำให้ส่วนตัวบอกได้ว่า ไม่เห็นด้วยหากใครบอกว่าโปรดัคชั่นของ Fashion Week ในเมืองไทยนั้นไม่ลงทุน เพราะหากเทียบขนาดของสถานที่ รวมไปถึงงบประมาณในการจัดงานที่มี(จะมากหรือน้อยอย่างไรก็แตกต่างกันไป) หลายๆห้องเสื้อในเมืองไทยนั้นทำได้ดีมากๆเลยทีเดียว เพราะการลงทุนที่บางคนอาจนำไปเปรียบเทียบกับเหล่ารายใหญ่ทั้งโชว์ในยุโรปโดยมี LVMH และ Kering เป็นนายทุน หรือในเอเชียที่มี Samsung และ Lotte เป็นผู้สนับสนุนนั่นคงดูไม่ยุติธรรมสำหรับการจัดงานสัปดาห์แฟชั่นของไทยที่เริ่มโดยมีทางนิตยสารแฟชั่นเป็นผู้ริเริ่ม และยังมีมาจนถึงทุกวันนี้(EllE Fashion Week AW 2015 ซีซั่นนี้เลื่อนขึ้นมาเป็นเดือนหน้า) หลังจากทศวรรษผ่านไป กับการที่มีโครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น(แต่วันนี้ก็ไม่มีแล้ว) แต่ความตั้งใจในการนำเสนอผลงานการออกแบบโดยดีไซเนอร์ไทยให้ไปสู่สายตาชาวโลกก็ยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ ตามการลงทุนที่เหมาะสมกับที่ผู้จัดงานเห็นสมควรต่อไป ^__^

ที่ Palais de Tokyo (Rick Owens SS 16)
กับรูปแบบโชว์ที่เรียบง่าย เน้นรายละเอียดของผลงาน

Palais de Tokyo ที่เดียวกัน (Paul Smith SS 16)
แต่ดูแตกต่างออกไปด้วยการจัดที่นั่งและการจัดการพื้นที่

แม้มี Hall ขนาดใหญ่ แต่หลายโชว์ใน SFW 
ก็นิยมจัดโปรดัคชั่นที่ดูเรียบง่าย เพื่อให้โฟกัสไปที่ผลงาน

เช่นเดียวกับที่ HKFW
รันเวย์เรียบง่าย แต่เห็นรายละเอียดของชุดได้ชัดเจน

(รูปภาพ : opoloppoppy)

No comments:

Post a Comment

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...